ในปัจจุบันมีสารเคมีที่ใช้ในทางอุตสาหกรรมหรือสารพิษต่างๆที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นจำนวนมาก สารเคมีเหล่านี้มีโอกาสที่จะปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมและมนุษย์อาจได้รับสัมผัสและเกิดเป็นปัญหาทางสุขภาพขึ้นได้ เช่น สารพิษที่มีผลต่อระบบของต่อมไร้ท่อ โลหะหนักและสารกลุ่มไดออกซินและสารกลุ่มโพลี่คลอโรไบเฟ็นนิลหรือพีซีบี เป็นต้น ซึ่งสารต่างๆเหล่านี้สามารถทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ ได้มากมาย เช่น โรคมะเร็งและความผิดปกติต่อระบบสืบพันธ์ สารพิษเหล่านี้นอกจากจะสามารถตรวจพบได้ในเขตภาคเหนือตอนล่างแล้วยังสามารถพบได้ทั่วโลก ดังนั้นปัญหาที่เกี่ยวกับสารพิษเหล่านี้และการวิจัยที่เกี่ยวข้องย่อมเป็นที่สนใจต่อนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ทั้งนี้ในมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นองค์กรที่มีนักวิจัยและกลุ่มวิจัยที่มีความสามารถสูง ในด้านการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และการใช้การวิเคราะห์เชิงอภิมาน ซึ่งวิธีการในการวิจัยทั้งสองชนิดนี้เป็นเครื่องมือวิจัยที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานวิจัยทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยาได้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้กลุ่มนักวิจัยเหล่านี้มีผลงานเป็นที่ยอมรับและได้รับการตีพิมพ์ในวารสารด้านทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยาและวารสารทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่างๆที่มีค่า journal impact factor สูง ซึ่งถือว่าเป็นข้อได้เปรียบที่มีเอกลักษณ์ ในการสร้างสรรค์งานวิจัยด้าน quantitative & computational toxicology ให้กับมหาวิทยาลัย ประเทศไทย และสังคมวิทยาศาสตร์ของโลกได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ผลงานที่เกิดจากการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สามารถนำไปใช้ต่อเนื่องกับงานวิจัยด้านการประเมินความเสี่ยงจากการได้รับสัมผัสสารเคมีได้ต่อไปอีกด้วย
ในเขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีการทำกิจกรรมเหมืองแร่อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารพิษในสิ่งแวดล้อมจนเกิดเป็นปัญหาสุขภาพต่อประชากร และทำให้เกิดปัญหาต่อชุมชนที่เกี่ยวข้อง อย่างรุนแรงจนเกิดเป็นปัญหาในระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเกิดการปนเปื้อนของสารโลหะหนัก เช่น แคดเมี่ยม โดยมีกลุ่มนักวิจัยเข้าไปทำการศึกษาวิจัยการเกิดพิษของโลหะหนักดังกล่าวในชุมชนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานหลายปี อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวยังไม่มีการทำการประเมินความเสี่ยงอย่างถูกต้อง สมบูรณ์ และเป็นระบบ ทั้งนี้นักวิจัยและกลุ่มวิจัยทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยาของมหาวิทยาลัยนเรศวรมีศักยภาพในการทำการประเมินความเสี่ยงได้อย่างสมบูรณ์ กล่าวคือกลุ่มวิจัยสามารถใช้เทคนิคการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการทำ dose-response assessment การประเมินการได้รับสัมผัส ของประชากรในชุมชนเป้าหมาย การให้ลักษณะของความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยง ซึ่งการทำวิจัยแบบครบวงจรดังกล่าวจะสามารถสร้างองค์ความรู้และคำแนะนำที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้ต่อผู้กำหนดนโยบาย ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรมต่อไป